Home » ความปลอดภัยในการทำงานกับเครื่องจักร

ความปลอดภัยในการทำงานกับเครื่องจักร

by admin
595 views
ความปลอดภัยในการทำงานกับเครื่องจักร

วิธีการสร้างความปลอดภัยใน การทำงานกับเครื่องจักร ต้องทำอย่างไร

หากพูดถึง การทำงานกับเครื่องจักร เครื่องจักร เป็นอุปกรณ์ที่ถูกออกแบบมาเพื่อให้สำหรับทำงานมีทั้งแบบอัตโนมัติและต้องใช้คนในการควบคุม โดยมีการใช้เทคโนโลยีต่างๆ ในการออกแบบ เพื่อให้เครื่องจักรสามารถทำงานได้ตรงตามความต้องการของผู้ใช้งาน เราได้ยินคำว่าเครื่องจักรอยู่เป็นประจำ แต่เรารู้หรือไม่ว่า จริงๆ แล้ว นิยามของคำว่าเครื่องจักรคืออะไร  

เครื่องจักรคืออะไร

กฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักร ปั้นจั่น และหม้อน้ำ พ.ศ. 2564 ได้ให้คำนิยามไว้ว่า “เครื่องจักร” หมายความว่า สิ่งที่ประกอบด้วยชิ้นส่วนหลายชิ้นสำหรับก่อกำเนิดพลังงาน เปลี่ยนหรือแปลงสภาพพลังงาน หรือส่งพลังงาน ทั้งนี้ ด้วยกำลังน้ำ ไอน้ำ เชื้อเพลิง ลม ก๊าซ แสงอาทิตย์ ไฟฟ้า หรือพลังงานอื่น และหมายความรวมถึงเครื่องอุปกรณ์ ล้อตุนกำลัง รอก สายพาน เพลา เฟือง หรือสิ่งอื่นที่ทำงานสัมพันธ์กัน รวมทั้งเครื่องมือกล

อันตรายจากการทำงานกับเครื่องจักร

อันตรายจากการทำงานกับเครื่องจักร

การทำงานกับเครื่องจักร อาจก่อให้เกิดอันตรายได้หากไม่มีการป้องกันหรือมาตรการที่เหมาะสม ในการทำงานกับเครื่องจักรผู้ปฏิบัติงานต้องปฏิบัติตามมาตรการด้านความปลอดภัยอยู่เสมอ เพื่อหลีกเลี่ยงอุบัติเหตุและการบาดเจ็บที่อาจเกิดขึ้น อันตรายจากเครื่องจักร ได้แก่ 

  • อันตรายทางกายภาพ : เครื่องจักรมีส่วนประกอบที่เคลื่อนไหวได้ เช่น ใบมีด เฟือง สายพาย และส่วนประกอบอื่นๆ ที่อาจทำให้ผู้ปฏิบัติงานได้รับบาดเจ็บหากใช้งานไม่ถูกต้อง อุบัติเหตุส่วนใหญ่ที่เกิดจากเครื่องจักร ได้แก่ การถูกบาด ตัด เฉือน หรือถูกทับ
  • อันตรายจากไฟฟ้า : เครื่องจักรส่วนใหญ่ใช้ไฟฟ้าเป็นพลังงานในการทำงาน ซึ่งอาจเป็นอันตรายได้หากระบบไฟฟ้าของเครื่องจักรเกิดข้อบกพร่อง เช่น ไฟฟ้าช็อตอาจทำให้เกิดแผลไหม้ กล้ามเนื้อกระตุก หรือถึงขั้นเสียชีวิต
  • อันตรายจากไฟไหม้ : เครื่องจักรบางชนิดก่อให้เกิดความร้อนหรือประกายไฟ ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายจากไฟไหม้ได้หากใช้งานไม่ถูกต้องหรือไม่ได้รับการบำรุงรักษาอย่างสม่ำเสมอ
  • อันตรายจากเสียง : เครื่องจักรบางชนิดก่อให้เกิดเสียงดังในขณะที่มีการทำงาน เช่น เครื่องปั๊ม  ซึ่งอาจทำให้เกิดอันตรายต่อระบบการได้ยินของผู้ปฏิบัติงาน หากไม่มีมาตรการด้านความปลอดภัยที่เหมาะสม
  • อันตรายจากสารเคมี : เครื่องจักรบางชนิดใช้สำหรับผลิตสารเคมีหรือต้องใช้สารเคมีเป็นส่วนประกอบในการผลิต  ซึ่งอาจเป็นอันตรายหากสูดดม กลืนกิน หรือสัมผัสกับผิวหนัง

เพื่อป้องกันอุบัติเหตุและการบาดเจ็บที่อาจเกิดจากการทำงานกับเครื่องจักร ผู้ปฏิบัติงานต้องปฏิบัติตามมาตรการและขั้นตอนการทำงานอย่างเคร่งครัด  และต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่าเครื่องจักรอยู่ในสภาพที่ดีและได้รับการบำรุงรักษาอย่างเหมาะสม 

สาเหตุอุบัติเหตุกับเครื่องจักร

สาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุ

สาเหตุหลักของการเกิดอุบัติเหตุ เกิดจากการกระทำที่ไม่ปลอดภัย (Unsafe Action) และสภาพแวดล้อมที่ไม่ปลอดภัย (Unsafe Condition) ในการทำงานกับเครื่องจักรก็เช่นกัน อุบัติเหตุจากเครื่องจักรสามารถเกิดขึ้นเสมอ หากใช้งานเครื่องจักรไม่ถูกวิธี หรือเครื่องจักรไม่ได้รับการบำรุงรักษาตามระยะเวลาที่เหมาะสม สาเหตุทั่วไปของการเกิดอุบัติเหตุ ได้แก่

  • การใช้งานเครื่องจักรโดยไม่ได้รับการฝึกอบรมหรือไม่ได้รับคำแนะนำที่เหมาะสม
  • ไม่ปฏิบัติตามมาตรการหรือขั้นตอนด้านความปลอดภัย
  • การใช้เครื่องจักรที่ไม่ได้รับการซ่อมแซมหรือไม่ได้รับการบำรุงรักษาอย่างสม่ำเสมอ
  • การดัดแปลงหรือแก้ไขเครื่องจักรที่ส่งผลให้ความปลอดภัยของเครื่องจักรลดลง
  • หยอกล้อเล่นกันขณะปฏิบัติงาน
  • ไม่สวมใส่อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลขณะที่ปฏิบัติงาน
  • การใช้สารเสพติดหรือสิ่งมึนเมา

อุบัติเหตุที่เกิดจากการทำงานกับเครื่องจักรอาจส่งผลร้ายแรง ได้แก่ การบาดเจ็บหรือเสียชีวิต ความเสียหายต่อ ทรัพย์สิน และการหยุดชะงักของกระบวนการผลิต ผู้ปฏิบัติงานต้องตระหนักถึงสาเหตุที่อาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุและดำเนินการเพื่อป้องกันเพื่อไม่ให้อุบัติเหตุเกิดขึ้น

 

การป้องกันอันตรายในการทำงานกับเครื่องจักร

การทำงานกับเครื่องจักรมีอันตรายแฝงอยู่เสมอ สิ่งสำคัญคือผู้ปฏิบัติงานต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดและมาตรการด้านความปลอดภัยเพื่อป้องกันอุบัติเหตุและการบาดเจ็บ ต่อไปนี้คือข้อกำหนดด้านความปลอดภัยในการทำงานกับเครื่องจักร

  • สวมอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลตลอดเวลาที่ทำงาน เช่น  ถุงมือ แว่นตานิรภัย หมวกนิรภัย รองเท้าพื้นยางหุ้มส้น และอุปกรณ์ป้องกันชนิดอื่นตามความเหมาะสมกับอันตรายที่อาจเกิดขึ้น
  • ปฏิบัติตามขั้นตอนการทำงานและมาตรการด้านความปลอดภัยอย่างเคร่งครัดเพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ
  • รักษาพื้นที่ทำงานให้สะอาดและปราศจากสิ่งที่อาจจะก่อให้เกิดอันตรายอยู่เสมอ
  • ปฏิบัติตามคำแนะนำของผู้ผลิตในการทำงานกับเครื่องจักรและทำการตรวจสอบเครื่องจักรก่อนเริ่มการทำงานเป็นประจำทุกวัน
  • รักษาระยะห่างที่ปลอดภัยจากชิ้นส่วนที่เคลื่อนไหวของเครื่องจักร
  • ปิดและถอดปลั๊กเครื่องจักรก่อนดำเนินการซ่อมบำรุงหรือทำความสะอาดทุกครั้ง
  • ห้ามถอดการ์ดป้องกันหรืออุปกรณ์นิรภัยออกจากเครื่องจักร
  • ห้ามเอื้อมมือเข้าไปในเครื่องจักรหรือรอบๆ เครื่องจักรที่กำลังเคลื่อนที่
  • ใช้ความระมัดระวังเมื่อทำงานกับเครื่องจักรกลหนัก และขอความช่วยเหลือหากจำเป็น
  • ห้ามใช้เครื่องจักรหากมีอาการเหนื่อยล้าหรืออยู่ภายใต้ฤทิ์ของสิ่งเสพติดหรือแอลกอฮอล์

การปฏิบัติตามคำแนะนำด้านความปลอดภัยข้างต้นสามารถป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นในขณะที่ทำงานกับ เครื่องจักร ผู้ปฏิบัติงานต้องตระหนักอยู่เสมอว่าหากไม่ทำตามขั้นตอนหรือมาตรการด้านความปลอดภัยที่กำหนดไว้ อาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้

การป้องกันอันตรายในการทำงานกับเครื่องจักร

อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล (PPE)

อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล หรือที่เราเรียกกันว่า PPE  เป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องมีเมื่อทำงานกับ เครื่องจักร นอกจากสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยในการทำงานแล้ว PPE ถือเป็นสิ่งที่จำเป็นเช่นกัน ซึ่งต่อนี้เป็นชนิดของ PPE เมื่อต้องทำงานตามลักษณะงานต่อไปนี้

  • งานเชื่อมหรืองานตัดชิ้นงานด้วยไฟฟ้า ก๊าซ หรือพลังงานอื่น ให้สวมถุงมือหนัง หรือถุงมือผ้า กระบังหน้าลดแสงหรือแว่นตาลดแสง รองเท้านิรภัย และแผ่นปิดหน้าอกกันประกายไฟ และต้องเป็นชนิดที่ป้องกันประกายไฟหรือความร้อนได้ดี
  • งานลับ ฝน หรือแต่งผิวโลหะด้วยหินเจีย ให้สวมแว่นตาชนิดใสหรือหน้ากากชนิดใส ถุงมือผ้า และรองเท้าพื้นยางหุ้มส้น
  • งานกลึงโลหะ งานกลึงไม้ งานไสโลหะ งานไสไม้ หรืองานตัดโลหะ ให้สวมแว่นตาชนิดใสหรือหน้ากากชนิดใส ถุงมือผ้า และรองเท้าพื้นยางหุ้มส้น
  • งานปั๊มโลหะ ให้สวมแว่นตาชนิดใสหรือหน้ากากชนิดใส ถุงมือผ้า และรองเท้าพื้นยางหุ้มส้น
  • งานชุบโลหะ ให้สวมถุงมือยาง และรองเท้าพื้นยางหุ้มส้น
  • งานพ่นสี ให้สวมที่กรองอากาศสำหรับใช้ครอบจมูกและปากกันสารเคมี ถุงมือผ้า และรองเท้าพื้นยางหุ้มส้น
  • งานยก ขนย้าย หรือติดตั้ง ให้สวมหมวกนิรภัย ถุงมือผ้า และรองเท้านิรภัย
  • งานควบคุมเครื่องจักร ให้สวมหมวกนิรภัยและรองเท้าพื้นยางหุ้มส้น

นอกจากอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลตามที่กำหนดแล้ว อาจให้สวมใส่อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยอื่นเพิ่มเติมตามลักษณะงานและอันตรายที่อาจเกิดขึ้น และต้องควบคุมดูแลให้สวมใส่ตลอดระยะเวลาที่ปฏิบัติงาน

สรุป

การทำงานกับเครื่องจักรอาจเกิดอันตรายได้หากผู้ปฏิบัติงานไม่ทำตามขั้นตอนและมาตรการด้านความปลอดภัยอย่างเคร่งครัดในการทำงานกับเครื่องจักรนอกจากผู้ปฏิบัติงานต้องผ่านการฝึกอบรมการทำงานกับเครื่องจักรแล้วอย่างปลอดภัยด้วยเช่นกันและสิ่งสำคัญในการทำงานกับเครื่องจักรคือผู้ปฏิบัติงานต้องตรวจสอบเครื่องจักรก่อนการใช้งานเสมอเพื่อดูว่าเครื่องจักรอยู่ในสภาพที่ปลอดภัยพร้อมใช้งานหรือไม่

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  1. กฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักร ปั้นจั่น และหม้อน้ำ พ.ศ. 2564

You may also like

Copyright @2023  All Right Reserved – Designed and Developed by entrepreblog