Home » การทำงานกับเครื่องปั๊มโลหะ

การทำงานกับเครื่องปั๊มโลหะ

by admin
3K views
ข้อควรระวังการทำงานกับเครื่องปั๊มโลหะ

ข้อควรระวังใน การทำงานกับเครื่องปั๊มโลหะ ให้เกิดความปลอดภัย

การทำงานกับเครื่องปั๊มโลหะ เป็นเครื่องจักรที่ใช้แรงกระทำเพื่อให้ได้ชิ้นงานตามที่ผู้ผลิตต้องการ โดยเครื่องปั๊มมีหลายขนาดและหลายประเภท สามารถใช้งานได้หลากหลายวัตถุประสงค์ เช่น เครื่องอัดกล เครื่องอัดไฮดรอลิก และเครื่องอัดลม เครื่องปั๊มสามารถใช้ขึ้นรูปวัสดุได้ตามที่ต้องการ มีทั้งชนิดปั๊มโลหะ พลาสติก ไม้ และวัสดุผสม ปัจจุบันมีการใช้งานอย่างแพร่หลายในอุตสาหกรรมการผลิต การก่อสร้าง และอุตสาหกรรมอื่นๆ

โดยกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักร ปั้นจั่น และหม้อน้ำ พ.ศ. 2564 ได้ให้คำนิยามไว้ว่า  “เครื่องปั๊มโลหะ” หมายความว่า เครื่องจักรที่ใช้สำหรับการปั๊ม ตัด อัด เฉือน หรือขึ้นรูปชิ้นส่วนโลหะหรือวัสดุอื่น

1. อันตรายจาก การทำงานกับเครื่องปั๊มโลหะ

การทำงานกับเครื่องปั๊มโลหะอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้หากผู้ใช้งานไม่เข้าใจถึงวิธีการทำงานที่ถูกต้อง และเครื่องปั๊มโลหะไม่ได้รับการบำรุงรักษาตามระยะเวลาที่เหมาะสม  อุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นจากการทำงานกับเครื่องปั๊มโลหะ ได้แก่ 

  • การบาดเจ็บจากการถูกกดทับ : เครื่องปั๊มโลหะทำงานโดยใช้แรงกดจำนวนมาก เพื่อให้ได้ชิ้นงานตามที่ต้องการซึ่งหากส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายติดอยู่ในเครื่อง อาจถูกเครื่องกดทับทำให้พิการหรือเสียชีวิตได้
  • การถูกตัดส่วนของร่างกาย : เครื่องปั๊มโลหะสามารถตัดหรือเฉือนชิ้นส่วนของร่างกายทำให้สูญเสียอวัยวะได้ 
  • แผลไหม้ : เครื่องปั๊มโลหะที่มีความร้อนจากการทำงาน หากมีคนสัมผัสกับพื้นผิวที่ร้อนหรือวัสดุร้อน อาจได้รับอันตรายจากความร้อน ทำให้เป็นแผลไหม้ได้
  • การระเบิด : เครื่องปั๊มโลหะใช้แรงดันจำนวนมากและมีถังลม หากเครื่องปั๊มโลหะไม่ได้รับการบำรุงรักษาตามระยะเวลาที่เหมาะสม อาจทำให้เกิดการระเบิดอาจขึ้นได้
  • ไฟฟ้าช็อต : เครื่องปั๊มโลหะใช้ไฟฟ้าในการทำงาน อาจมีไฟฟ้ารั่วบนชิ้นส่วนของเครื่องปั๊มโลหะ หากไม่ได้รับการบำรุงรักษาและตรวจเช็ค ผู้ปฏิบัติงานอาจได้รับอันตรายจากการสัมผัสกับสายไฟที่มีไฟฟ้ารั่ว และอาจถูกไฟฟ้าช็อต
  • การตกจากที่สูง : เครื่องปั๊มโลหะที่มีขนาดใหญ่ ในบางครั้งการทำงานหรือซ่อมบำรุงจำเป็นต้องขึ้นไปบนที่สูงหากไม่มีมาตรการด้านความปลอดภัยผู้ปฏิบัติงานอาจตกจากเที่สูงทำให้ได้รับบาดเจ็บสาหัสหรือเสียชีวิตได้
  • อับอากาศ : เครื่องปั๊มโลหะที่มีขนาดใหญ่ จะมีบ่ออยู่ด้านล่างเครื่องเพื่อรองรับน้ำมันหรืออุปกรณ์ของเครื่องปั๊มโลหะ หากจำเป็นต้องลงไปทำงานบริเวณใต้เครื่องปั๊มโหละ ต้องปฏิบัติตามมาตรการด้านความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศด้วย

2. ข้อควรระวังเมื่อต้องทำงานกับเครื่องปั๊มโลหะ

การทำงานกับเครื่องปั๊มโลหะอาจเกิดอันตรายได้ ต่อไปนี้คือข้อควรระวังทั่วไปเมื่อต้องทำงานกับเครื่องปั๊มโลหะ

  • สวมอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลที่เหมาะสม ได้แก่ แว่นตาชนิดใสหรือหน้ากากชนิดใส ถุงมือผ้า รองเท้าพื้นยางหุ้มส้น และเครื่องป้องกันหูหากมีเสียงดัง
  • ตรวจสอบให้แน่ใจว่าเครื่องปั๊มโลหะมีการการ์ดป้องกันอันตรายและอยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งาน
  • ทำความเข้าใจขั้นตอนการทำงาน มาตรการด้านความปลอดภัย และอุปกรณ์ของเครื่องให้เข้าใจก่อนการใช้งาน
  • ใช้เครื่องตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้เท่านั้นห้ามใช้นอกเหนือจากที่กำหนดไว้
  • อย่าปล่อยให้เครื่องทำงานโดยไม่มีผู้ดูแล
  • ปฏิบัติตามขั้นตอนและคำแนะนำด้านความปลอดภัยทั้งหมดที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด
  • หากไม่ได้รับการฝึกอบรมอย่างถูกต้องเกี่ยวกับวิธีใช้เครื่องปั๊มโลหะอย่าพยายามใช้งานโดยไม่มีความรู้โดยเด็ดขาด

3. การฝึกอบรมเกี่ยวกับเครื่องปั๊มโลหะ

การทำงานกับเครื่องปั๊มโลหะผู้ปฏิบัติงานต้องผ่านการฝึกอบรมก่อนการทำงาน เพื่อความปลอดภัยในการทำงานเกี่ยวกับเครื่องปั๊มโลหะ ซึ่งหัวข้อในการฝึกอบรม มีดังนี้

  • ขั้นตอนและวิธีการทำงานที่ปลอดภัยในการทำงานของเครื่องจักร 
  • การป้องกันอันตรายจากเครื่องจักร 
  • รายละเอียดเกี่ยวกับโครงสร้างอุปกรณ์ 
  • การตรวจสอบและบำรุงรักษาอุปกรณ์ของเครื่องจักรนั้น

ในการฝึกอบรมต้องต้องตามชนิดของเครื่องจักรที่ใช้งาน โดยวิทยากรที่อบรมต้องมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์การทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรประเภทนั้นๆ

มาตรการด้านความปลอดภัยในการทำงานกับเครื่องปั๊มโลหะ

4. มาตรการด้านความปลอดภัยใน การทำงานกับเครื่องปั๊มโลหะ

เครื่องปั๊มโลหะสามารถก่อให้เกิดอันตรายกับผู้ปฏิบัติงานได้หากไม่มีมาตรการด้านความปลอดภัยที่เหมาะสมต่อไปนี้คือมาตรการด้านความปลอดภัยเมื่อปฏิบัติงานกับเครื่องปั๊มโลหะ

  • ต้องมีการ์ดป้องกันอันตรายปิดคลุมบริเวณที่เป็นอันตรายของเครื่องปั๊มโลหะ
  • เครื่องปั๊มโลหะต้องมีอุปกรณ์ที่สามารถหยุดเครื่องได้ทันทีเมื่อส่วนของร่างกายเข้าใกล้บริเวณที่อาจเป็นอันตราย เช่น ม่านแสงนิรภัย ปุ่มหยุดฉุกเฉิน เป็นต้น
  • อุปกรณ์ป้องกันที่สามารถป้องกันไม่ให้ส่วนของร่างกายเข้าไปในบริเวณที่เป็นอันตรายของเครื่องปั๊มโลหะ
  • เครื่องปั๊มโลหะที่ใช้มือป้อนวัสดุ ให้ใช้สวิตช์แบบกด 2 มือพร้อมกันเครื่องจึงจะทำงาน และสวิตช์ต้องห่างกันไม่น้อยกว่า 30 เซนติเมตร
  • เครื่องปั๊มโลหะที่ใช้เท้าเหยียบ ให้มีที่พักเท้าโดยมีที่ครอบป้องกันไม่ให้เหยียบโดยไม่ตั้งใจ และต้องไม่ให้แผ่นที่ใช้เท้าเหยียบลื่นไถลได้
  • เครื่องปั๊มโลหะที่ใช้คันโยก ให้ใช้คันโยกที่มีความมั่นคงแข็งแรง และมีสลักบนคันโยกที่สามารถป้องกันไม่ให้เครื่องทำงานโดยไม่ตั้งใจ
  • เครื่องปั๊มโลหะที่ใช้น้ำหนักเหวี่ยง ให้ติดตั้งตุ้มน้ำหนักเหวี่ยงสูงกว่าศีรษะของผู้ปฏิบัติงาน และต้องไม่มีสายไฟฟ้าอยู่ในรัศมีของน้ำหนักเหวี่ยง
  • ห้ามดัดแปลง แก้ไข หรือเปลี่ยนแปลงสมรรถนะของเครื่องปั๊มโลหะหรือเครื่องป้องกันอันตรายจากเครื่องปั๊มโลหะ ยกเว้นว่าจะมีวิศวกรรับรองความปลอดภัย
  • เครื่องปั๊มโลหะต้องติดตั้งบนพื้นที่มั่นคงแข็งแรงและไม่ก่อให้เกิดการสั่นสะเทือน
  • อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลในงานปั๊มโลหะ ให้สวมแว่นตาชนิดใสหรือหน้ากากชนิดใส 

ถุงมือผ้า รองเท้าพื้นยางหุ้มส้น และอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลอื่นเพิ่มเติมตามลักษณะงานและอันตรายที่อาจเกิดขึ้น และต้องควบคุมดูแลให้สวมใส่ตลอดระยะเวลาที่ปฏิบัติงาน

มาตรการด้านความปลอดภัยในการทำงานกับเครื่องปั๊มโลหะข้างต้นอ้างอิงตามกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหารจัดการและดำเนินการด้านความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรปั้นจั่นและหม้อน้ำพ.ศ. 2564

5. มาตรฐานที่เกี่ยวข้อง

มาตรฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเครื่องปั๊มที่อาจนำไปใช้ได้ ขึ้นอยู่กับประเภทของเครื่องจักรและจุดประสงค์ของการใช้งาน ตัวอย่างของมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับเครื่องปั๊ม ได้แก่

  • มาตรฐาน OSHA (OSHA : Occupational Safety and Health Administration) กำหนดมาตรฐานความปลอดภัยสำหรับการดำเนินงานและการบำรุงรักษาเครื่องปั๊มในสหรัฐอเมริกา
  • มาตรฐาน ANSI (ANSI : American National Standards Institute) ได้พัฒนามาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับเครื่องปั๊มรวมถึงข้อกำหนดด้านความปลอดภัยและมาตรฐานของเครื่องปั๊ม
  • มาตรฐาน ISO (ISO : International Organization for Standardization) ได้พัฒนามาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับเครื่องปั๊ม รวมทั้งมาตรฐานสำหรับการออกแบบ การสร้าง และการทดสอบเครื่องป็ม
  • มาตรฐานเฉพาะอุตสาหกรรม ขึ้นอยู่กับอุตสาหกรรมที่จะใช้เครื่องปั๊ม อาจมีมาตรฐานเพิ่มเติมที่เกี่ยวข้อง ตัวอย่างเช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ได้พัฒนามาตรฐานเฉพาะสำหรับเครื่องปั๊มที่ใช้ในการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์โดยเฉพาะ

สิ่งสำคัญในการทำงานกับเครื่องปั๊ม ไม่ว่าจะเป็นเครื่องปั๊มชนิดใด คือ ต้องตระหนักถึงมาตรฐานด้าน ความปลอดภัยเพื่อให้มั่นใจได้ว่าผู้ปฏิบัติงานจะปลอดภัยและไม่มีอุบัติเหตุเกิดขึ้น

สรุป

เครื่องปั๊มโลหะเป็นเครื่องจักรที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุหากไม่มีมาตรการด้านความปลอดภัยที่เหมาะสมซึ่งเมื่อมีการกำหนดมาตรการมาแล้วจะต้องควบคุมดูแลให้ผู้ปฏิบัติงานปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดเพราะอุบัติเหตุจากเครื่องปั๊มโลหะหากเกิดขึ้นแล้วอาจส่งผลให้สูญเสียอวัยวะหรือเสียชีวิตได้

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  1. กฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และ สภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักร ปั้นจั่น และหม้อน้ำ พ.ศ. 2564

บทความที่เกี่ยวข้อง

Copyright @2024  All Right Reserved – Designed and Developed by entrepreblog